ไหว้พระชมวัด: ตอนที่ ๔ “วัดสีสะเกด” สเน่ห์วัดเก่าแก่แห่งนครเวียงจันทน์ ชม “หอพระแก้ว” อดีตวัดหลวงประจำราชวงศ์ลาว สถานที่ซึ่งเคยประดิษฐานพระแก้วมรกต

ไหว้พระชมวัดฉบับนี้ขอนำเสนอเกี่ยวกับวัดวาอารามในนครเวียงจันท์ที่ได้มีโอกาสไปทำบุญ ครั้งล่าสุดคือปี ๒๕๕๓ และครั้งแรกในปี ๒๕๕๐ ต้องเรียนท่านผู้อ่านก่อนว่าการนำเสนอบทความของผู้เขียนนั้นไม่ได้เรียงตามลำดับว่าไปที่ใดก่อนหลัง แต่จะเป็นการหยิบยกมาเล่าสู่กันฟังตามแต่ผู้เขียนอยากนำเสนอเสียมากกว่า บางวัดได้ไปทำบุญเป็นลำดับแรกๆแต่นำมาเขียนเป็นบทความในลำดับหลังๆ รวมทั้งรูปประกอบบทความมีทั้งภาพครั้งล่าสุดและภาพที่ถ่ายไว้ในปีก่อนหน้านั้น เป็นต้น

ครั้งนี้ไปไหว้พระทำบุญที่วัดสีสะเกดและหอพระแก้ว นครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

มองจากซุ้มประตูวัดเข้าไปเห็นระเบียงคตหลังคาสีน้ำตาลเข้ม ผนังสีเหลืองอ่อนซีดจางมีรอยคราบต่างๆแสดงให้เห็นถึงความเก่าแก่ไปตามกาลเวลา เหนือหลังคาระเบียงคตมองเห็นช่อฟ้า หลังคาโบสถ์ มียอดมะพร้าวสีเขียวไหวสะบัดเรื่อยๆตามสายลมเป็นฉากหลัง

01

ตอนที่มาถึงใกล้เวลาปิดพักเที่ยงแต่อ้ายพัทธ์คนขับรถชาวลาวคงไม่อยากเสียเวลาพาเราย้อนกลับมาอีกเลยไปเจรจากับคนขายตั๋วเข้าชมสรุปว่าเราได้ซื้อตั๋วเข้าไปไหว้พระและทำบุญตามที่ตั้งใจไว้

เราตรงเข้าไปกราบพระประธานในโบสถ์ คนลาวเรียกว่า “พระประธานตาเพชร” ไม่ว่าเราจะนั่งอยู่ตรงไหนในพระอุโบสถก็เหมือนกับพระเนตรขององค์พระมองมาที่เราตลอด ก้มกราบลงไปก็ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระธรรม พระอริยสงฆ์และคุณครูบาจาจารย์ทั้งหมด เงยหน้ามองไปดูพระประธานเก่าแก่แล้วจิตใจชุ่มชื่นอย่างบอกไม่ถูก ได้ใส่ตู้บริจาคเพื่อทำนุบำรุงวัด รอบๆผนังด้านในพระอุโบสถมีการเจาะเป็นซุ้มเล็กๆและมีพระพุทธรูปองค์เล็กประดิษฐานอยู่เต็มผนังทุกด้านเหมือนผนังระเบียงคต หน้าพระประธานมีราวเทียนแกะสลักจากไม้สภาพเก่าแต่คงความสมบูรณ์ของชิ้นงาน  ตัวราวเทียนเป็นรูปพญานาคสองตัวเอาหางพันกันเป็นงานฝีมือที่ประณีตงดงามมาก ตรงกลางนั้นแกะเป็นช้างสามเศียรสัญลักษณ์ของราชวงศ์ลาว ท่านผู้อ่านที่อยากเห็นภาพคงต้องหาโอกาสแวะชมของจริงเพราะว่าด้านในพระอุโบสถนั้นไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ

02

มีเรื่องเล่าว่าถึงที่มาของชื่อวัดว่าเมื่อครั้งกษัตริย์ลาวสร้างวัด ได้เชิญชวนประชาชนสร้างพระพุทธรูปมาถวายวัด รวมๆแล้วพระพุทธรูปที่มีในวัดสมัยนั้นถึงแสนองค์

03

ได้อ่านจากหนังสือท่องเที่ยว รวมถึงแหล่งข้อมูลบนอินเตอร์เน็ต เค้าบอกว่า คำว่า “สตสหสฺส”(สะตะสะหัสสะ)ในภาษามคธ(บาลี) แปลว่า แสน ดังนั้น “สตสหสฺส”สนธิกับคำว่า“อาราม” จึงกลายเป็น “สตสหสฺสาราม” แปลว่าวัดแสน ได้ยินไกด์บอกว่าปัจจุบันนี้เหลือพระพุทธรูปในวัดประมาณ 6,000 กว่าองค์ บ้างก็ว่าเหลือประมาณ 10,000 องค์ จำนวนพระพุทธรูปเท่าไรไม่แน่ชัด แต่เชื่อกันว่าวัดแห่งนี้เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดและมีพระพุทธรูปมากสุดในนครเวียงจันทน์

05

วัดนี้สร้างเสร็จเรียบร้อยในสมัยเจ้าอนุวงศ์ ผู้เขียนคิดว่าเป็นวัดที่รูปทรงคล้ายคลึงกับวัดแถบภาคกลางบ้านเรามากทีเดียว ตัวอุโบสถเป็นทรงสูงเมื่อเทียบกับพระอุโบสถทางเมืองหลวงพระบาง

06

เสามีการย่อมุม คันทวยเป็นงานแกะสลักไม้เป็นรูปนาคอ่อนช้อยรับกับหลังคา

07

เชิงชายรอบตัวอุโบสถเป็นงานไม้แกะสลักละเอียดงดงาม

08

และหน้าบันงานไม้แกะสลักคล้ายรูปองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

09

หางหงส์ของพระอุโบสถวัดสีสะเกดเป็นงานปูนปั้นรูปมังกรคายนาค

10

กล่าวกันว่าเจ้าอนุวงศ์ผู้ทรงสร้างวัดนี้มีความเคารพในพระรัตนตรัยมาก จึงให้สร้างวัดไว้ทางทิศหัวนอนของพระราชวัง เวลาเข้าบรรทมจะได้หันพระเศียรมาทางวัด เลยเป็นที่มาของวัดนี้อีกชื่อว่า “วัดสีสะเกด”(สะกดตามแบบภาษาลาว) คงคล้ายกับเรื่องราวของพระสารีบุตรที่ก่อนนอนท่านจะนมัสการไปยังทิศที่พระอัสสชิผู้เป็นพระอาจารย์ของท่านอยู่

เดินชมในบริเวณระเบียงคตรอบพระอุโบสถมาพบสิ่งที่แปลกตาไม่น้อยซึ่งผู้เขียนไม่เคยเห็นของจริงในวัดแถบบ้านเราคือรางรดน้ำหรือ “ฮางฮด”ในภาษาลาว ใช้สำหรับสรงน้ำพระพุทธรูปในวันสงกรานต์ปีใหม่ของคนลาว ทราบว่าวัดแถบภาคเหนือของบ้านเรายังพอมีอยู่ รางรดน้ำวัดสีสะเกดมีสองแบบคือแบบรางรดนาคสามเศียรที่อยู่ในระเบียงคตด้านข้างพระอุโบสถ

11

สังเกตประตูด้านหลังพระอุโบสถ จะมีรางรดแบบนาคเศียรเดียวอยู่ตรงหน้าประตูบานนี้

13

ด้านล่างคือรางรดแบบพญานาคเศียรเดียวอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ รางรดน้ำทั้งสองอันนี้เป็นไม้แกะสลัก ผู้เขียนชอบงานฝีมือแบบนี้มาก

12

“หอไตร” ของวัดสีสะเกดมีรูปทรงแปลกตาคือมีหลังคาซ้อนกันหลายชั้นคล้ายกับวัดแบบไทยใหญ่ทางแถบภาคเหนือของบ้านเรา หลังคาประดับโหง่หรือช่อฟ้าแบบทางลาวเป็นรูปนาคสะดุ้ง เป็นการผสมผสานที่ดูแปลกตาอยู่ไม่น้อย มาคราวนี้มีการบูรณะหลังคาหอไตรใหม่

14

แต่ผู้เขียนชอบสีเก่าๆแบบในปี ๒๕๕๐ ตามภาพด้านล่างนี้มากกว่า

15

น่าเสียดายที่ข้างในเป็นเพียงหอไตรที่ว่างเปล่าเพราะพระคัมภีร์ทางศาสนาทั้ง หมดถูกกองทัพสยามนำกลับมากรุงเทพด้วยตอนที่ทำศึกสงครามกับเมืองเวียงจันทน์สมัยนั้น ตามประวัติกล่าวว่ากองทัพสยามได้เผาทำลายเมืองเวียงจันทน์เกือบหมดมีเพียงวัดสีสะเกดที่ไม่ได้เผาเพราะตั้งทัพอยู่ที่นี่

16

ลายรดน้ำปิดทองบนพื้นแดงชาดในอดีตภายในหอไตรที่ลางเลือนไปบ้าง แต่ยังคงร่อยรอยความสวยงามให้เห็นในปัจจุบัน

17

กุฏิพระอยู่ด้านนอกส่วนที่เป็นระเบียงคตและอุโบสถ

18

หอกลองภายในวัดซึ่งน่าจะเป็นส่วนที่สร้างขึ้นในภายหลัง

19

ใกล้กับหอกลองเป็นหอพระ

20

ปิดท้ายวัดสีสะเกดกันด้วยภาพนี้

21

ข้ามถนนหน้าวัดมาฝั่งตรงข้ามก็จะเป็นหอพระแก้ว แต่เดิมนั้นเป็นวัดหลวงประจำราชวงศ์ลาว เป็นวัดที่สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระแก้วมรกตซึ่งพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้อัญเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่หรืออาณาจักรล้านนาในสมัยนั้น พระองค์มีพระราชมารดาเป็นราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่และพระราชบิดาเป็นกษัตริย์อาณาจักรล้านช้าง เมื่อพระราชบิดาสวรรคตพระองค์ซึ่งครองบัลลังค์ล้านนาอยู่ในขณะนั้น ได้เสด็จกลับมาครองบัลลังค์ล้านช้างพร้อมทั้งอัญเชิญพระแก้วมรกต พระพุทธสิหิงค์ พระแก้วขาวมาด้วย

22

เมื่อพระองค์ทรงย้ายราชธานีจากหลวงพระบางมาเวียงจันทน์ก็อัญเชิญพระแก้วมรกตมาไว้ที่เวียงจันทน์และสร้างหอพระแก้วขึ้นมาสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง สมัยพระองค์เป็นยุคที่พระพุทธศาสนาและศิลปะต่างๆรุ่งเรืองมากที่สุด พระองค์ทรงสร้างทั้งพระธาตุหลวง หอพระแก้ว พระเจ้าองค์ตื้อ(พระประธานในพระอุโบสถวัดองค์ตื้อ) พระสุก พระเสริม พระใสซึ่งก็สร้างโดยราชธิดาของพระองค์ นอกจากนี้พระองค์ยังได้บูรณะพระธาตุพนม ทรงสร้างพระเจดีย์ศรีสองรักที่หนองคาย และบูรณวัดวาอารามอีกหลายที่ สมกับเป็นมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ลาว

23

หอพระแก้วที่เราเห็นในปัจจุบันตามประวัติบอกว่าเป็นหอที่บูรณะขึ้นมาใหม่มิใช่ของดั้งเดิม เนื่องจากหอพระแก้วเดิมนั้นถูกกองทัพสยามเผาทิ้งเมื่อครั้งรบทัพจับศึกกับเวียงจันทน์ ภาพจำหลักที่บานประตูใหญ่อันเป็นของเดิมที่เหลืออยู่ คาดว่าหอพระแก้วดั้งเดิมนั้นคงจะงดงามมากทีเดียว

24

25

26

บานหน้าต่างแกะสลักลวดลายแตกต่างกันไป

27

28

29

ปัจจุบันหอพระแก้วเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์รวบรวมเอาโบราณวัตถุต่างๆไว้ให้ชมเป็นจำนวนมาก ด้านนอกมีพระพุทธรูปศิลปะแบบล้านช้างประดิษฐานเรียงรายอยู่

35

30

สังเกตว่าพระพุทธรูปที่นี่จะมีพระเศียรลักษณะแบบหนามขนุนเป็นส่วนมาก

31

32

สิงห์

33

หม้อโบราณขนาดใหญ่

34

เต่าหินใหญ่มาก

36

ศิลาจารึกและเสมาหิน

37

ราวบันไดนาคปูนปั้น

38

ด้านในหอพระแก้วไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ มีหลายอย่างน่าสนใจมากสำหรับผู้ชื่นชอบทางโบราณวัตถุ สำหรับองค์พระแก้วมรกตก็อย่างที่ทราบกันดีว่าไม่ได้ประดิษฐานอยู่ที่นี่แล้ว เพราะสยามชนะศึกคราวนั้นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก(ภายหลังขึ้นครองราชย์คือ รัชกาลที่ ๑)แม่ทัพก็ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาที่กรุงเทพด้วย

ภาพหน้าบันหอพระแก้วเป็นรูปช้างสามเศียรสัญลักษณ์ราชวงศ์ลาว

39

แม้ปัจจุบันไม่มีพระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ที่หอพระแก้วแล้วแต่เราก็ไปทำบุญ ไปชมสถานที่ในประวัติศาสตร์อันยาวนาน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยประดิษฐานพระแก้วมรกตคู่บ้านคู่เมือง ไปดูความเจริญรุ่งเรืองในอดีตของอาณาจักรล้านช้างศรีสัตตนาคนหุต

เรื่อง:  น้ำค้าง

ภาพ:  เยอร์เกิ้น

ข้อมูลเพิ่มเติมภาษาไทย

หอพระแก้ว

ข้อมูลเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ
Wat_Si_Saket

Lonely Planet LAOS [Lonely Planet 6/E] by Andrew(Author); Vaisutis, Justine(Author) Burke (Aug 31, 2007)

This entry was posted in บทความ, ไหว้พระชมวัด. Bookmark the permalink.

2 Responses to ไหว้พระชมวัด: ตอนที่ ๔ “วัดสีสะเกด” สเน่ห์วัดเก่าแก่แห่งนครเวียงจันทน์ ชม “หอพระแก้ว” อดีตวัดหลวงประจำราชวงศ์ลาว สถานที่ซึ่งเคยประดิษฐานพระแก้วมรกต

  1. direk ch. says:

    สวยงามมาก หากมีโอกาสคงจะได้ไปเที่ยวไหว้พระชมวัดบ้าง

  2. เก่าแก่มาก
    ต้องไปสักการะสักครั้งให้ได้

Comments are closed.